1. ระบบการจัดการศึกษา

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล โดยจัดสาระของหลักสูตรเป็นชุดวิชาที่บูรณาการเนื้อหาสาระและประสบการณ์ต่างๆ ของชุดวิชาที่มีความสัมพันธ์กันเข้า
ไว้ด้วยกันอย่างมีระบบในรูปของชุดการสอนเรียกว่า “ชุดวิชา” ซึ่งแต่ละชุดวิชามีค่าไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต ทวิภาค ของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ชุดวิชาหนึ่งแบ่งหน่วยการสอนออกเป็น 15 หน่วย แต่ละหน่วยการสอนใช้เวลาศึกษาประมาณ 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาเป็นระบบทวิภาค ปีการศึกษาหนึ่งมี 2 ภาคการศึกษาปกติ แต่ละภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ ในภาคการศึกษาปกติแต่ละภาค นักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิตแต่ไม่เกิน 12 หน่วยกิต แต่นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนได้  18 หน่วยกิต ตามที่สาขาวิชากำหนดเป็นรายกรณี  ส่วนในภาคพิเศษ (ภาคฤดูร้อน) นักศึกษาจะลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 6 หน่วยกิต จนกว่าจะครบจำนวนหน่วยกิตตามหลักสูตรในสาขาวิชาที่ศึกษา ทั้งนี้ นักศึกษาต้องใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 6 ปีการศึกษา นับจากวันเปิดภาคการศึกษาแรกที่เข้าศึกษาในหลักสูตรนี้

ระบบการศึกษาทางไกลที่มหาวิทยาลัยใช้เป็นระบบการเรียนการสอนที่เอื้อให้นักศึกษาสามารถศึกษาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าห้องเรียนตามปกติ แต่ใช้วิธีการศึกษาโดยผ่านสื่อการสอนต่างๆ ดังนี้

1.1 การศึกษาจากสื่อหลัก มี 2 ประเภท ได้แก่

                   1) กรณีสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อหลัก หมายถึง สื่อสิ่งพิมพ์ที่รวบรวมเนื้อหาสาระ มโนมติ กิจกรรมและวิธีปฏิบัติทั้งหมดของชุดวิชา ประกอบด้วย

                            (1) แนวการศึกษา เป็นเอกสารคู่มือการเรียนการสอนของชุดวิชา ประกอบด้วย ส่วนแนะนำ ขอบข่าย วัตถุประสงค์ และวิธีศึกษา หรือส่วนที่เป็นสาระปฐมนิเทศชุดวิชา ส่วนที่เป็นแผนการสอนประจำหน่วยการสอน สาระสังเขปและกิจกรรม และส่วนที่เป็นข่าวสาร รายละเอียดกิจกรรม บทความอ้างอิง หรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่จำเป็นและเหมาะสม

                            (2) ประมวลสาระชุดวิชา เป็นเนื้อหาสาระในส่วนที่ทดแทนการบรรยายความ ความคิดเห็น ผลงานและจุดยืนของอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของชุดวิชา จัดพิมพ์เป็นตำราชุดตามปกติ ชุดวิชาละ 15 เรื่อง หรือหลายเล่มตามความเหมาะสม แต่ละเรื่องมีเนื้อหาสาระที่จะต้องใช้เวลาศึกษาประมาณ 6-18 ชั่วโมง

                            (3) แผนกิจกรรมการศึกษาประจำชุดวิชา เป็นเอกสารคู่มือแนะแนวประกอบกิจกรรมการศึกษาของนักศึกษาตลอดภาคการศึกษา  โดยนักศึกษาจะต้องศึกษาแผนกิจกรรมการศึกษาประจำชุดวิชาก่อนดำเนินกิจกรรมการศึกษา เพื่อจะได้ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ โครงสร้างของเนื้อหาชุดวิชา การเตรียมตัวของนักศึกษา  การดำเนินการศึกษา งานที่กำหนดให้ทำ การส่งงาน การเสนอผลงาน การประเมินผลการเรียน การสัมมนาเข้ม ตารางการศึกษาชุดวิชา ตารางการศึกษาประจำสัปดาห์ และแบบฟอร์มรายงาน เป็นต้น

                   2) กรณีสื่อคอมพิวเตอร์เป็นสื่อหลัก หมายถึง บทเรียนออฟไลน์ และ/หรือออนไลน์ และแนวการศึกษาประกอบด้วย

                            (1) บทเรียนออฟไลน์ และ/หรือบทเรียนออนไลน์ ในรูปซีดีมัลติมีเดีย จำนวนรวม 15 โมดูล

                            (2) แนวการศึกษาในรูปซีดี ประกอบด้วย แผนผังแนวคิด แผนการสอนประจำหน่วย แบบประเมินก่อนเรียน แผนการสอนประจำตอน สาระสังเขป แนวตอบกิจกรรม และแบบประเมินหลังเรียน

                   1.2 การศึกษาจากสื่อเสริม เพื่อให้นักศึกษาสามารถศึกษาเนื้อหาและทำกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสื่อหลัก ประกอบด้วย

                     1) การเรียนการสอนออนไลน์ เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบปฏิสัมพันธ์บนเครือข่าย  ปฐมนิเทศชุดวิชา รายละเอียดชุดวิชา ปฏิทินการศึกษา การมอบหมายกิจกรรม การตรวจกิจกรรมและข้อมูลย้อนกลับ การตอบคำถาม และการสัมมนาเสริมออนไลน์

                     2) บทเรียนออนไลน์ (ถ้ามี) เสนอเนื้อหาสาระและประสบการณ์ในรูปแบบการสรุปเสริมเติมเต็ม

                   1.3 การเข้าร่วมกิจกรรมปฏิสัมพันธ์  ได้แก่  การปฐมนิเทศเชิงปฏิบัติการบัณฑิตศึกษา การสัมมนาเสริมแบบเผชิญหน้า การสัมมนาเข้ม การอบรมเข้มเสริมประสบการณ์มหาบัณฑิต/ประสบการณ์วิชาชีพมหาบัณฑิต/ประสบการณ์วิชาชีพประกาศนียบัตรบัณฑิต และการฝึกอบรม/การฝึกปฏิบัติตามที่หลักสูตรกำหนด

  1. ช่วงเวลาการดําเนินการเรียนการสอน
  • ภาคต้น 15 กันยายน ถึง 20 มกราคม ของทุกปี
  • ภาคปลาย 15 มีนาคม ถึง 20 กรกฎาคม ของทุกปี
  • ภาคพิเศษ (ภาคฤดูร้อน) 15 สิงหาคม ถึง 31 ตุลาคม ของทุกปี

 ดูรายละเอียด คลิก